:: mango

IndiaCine : ราชมันดีร์ มันส์ดี

Posted in diary, film by mangomoment on เมษายน 30, 2014

DSCF6604

เพราะเรามาถึงเมือง Jaipur กันตอนบ่ายแก่ จะตามเก็บที่เที่ยวก็คงไม่ทันแล้ว เพราะส่วนใหญ่ปิดกันตอน 4 โมง เลยตกลงใจกันว่าไปเดินตลาด ตามหาลาซซี่ และกินหรูที่ร้าน Niros จบภารกิจราว 6 โมงเย็น หลังจากนั้นโปรแกรมยังหลวมโพรก แล้วใครสักคนก็เสนอขึ้นว่า ‘ดูหนังกันมั้ยล่ะ’ จุดหมายค่ำนั้นเลยอยู่ที่ Raj Mandir โรงหนังประจำเมืองไจเปอร์

box office ของที่นี่ไม่ซับซ้อน วันที่เราไปมีหนังอินเดียเรื่อง “2 States” เข้าอยู่เรื่องเดียว เลยไม่ต้องตัดช้อยส์ให้ยุ่งยาก
แต่ขึ้นชื่อว่าอินเดียย่อมไม่มีอะไรธรรมดา ซึ่งอินเดียนชนก็ไม่ทำให้เราผิดหวังด้วยความเซอร์ไพรส์ดังต่อไปนี้ :

ช่วงซื้อตั๋ว
– หนังรอบ 21.30 น. เปิดขายตั๋ว 21.00 น. ซึ่งอินเดียนชนมาเข้าคิวรอตั้งแต่ยังไม่สามทุ่มดี
– แถวเข้าคิวจะแยกชาย-หญิง 2 ช่องชัดเจน หนุ่มบังกลาเทศรายหนึ่งเห็นท่าทีสงสัยของพวกเรา กลัวว่าเข้าโรงแล้วต้องแยกกันนั่งชาย-หญิงด้วยรึเปล่าน้อ เลยได้รับการชี้แจงจนแจ้งใจว่า แค่แยกแถวซื้อตั๋วเท่านั้นจ้า เพื่อรักษาความปลอดภัยให้เลดี้ทั้งหลาย
– เคาน์เตอร์ขายตั๋วเปิดตรงเวลา 21.00 น. เป๊ะเด๊ะ
– โรงหนังที่นี่ระบุเลือกที่นั่งไม่ได้ เลือกได้แค่ว่าจะนั่งชั้น Emerald หรือ Diamond แล้วคนขายจะจัดที่นั่งให้เอง เราเลือกชั้น Emerald กัน เพราะราคาถูกกว่า เฉลี่ยแล้วประมาณ 65 บาทไทย ที่นั่งจะอยู่โซนด้านหลังโรง (ตรงกันข้ามกับบ้านเราที่ที่นั่งด้านหลังจะราคาแพงกว่า)

DSCF6610 DSCF6608 DSCF6607

เข้าโรง
– ลองจินตนาการถึงโรงหนังท้องถิ่นในคืนวันอังคาร คนไม่น่าจะมากันครึกครื้นใช่มั้ย แต่ผิดคาดจ้า อินเดียนชนมากันครึกโครม มีทั้งแก๊งหนุ่มวัยรุ่น คู่รัก ครอบครัว แถมทุกคนยังแต่งตัวดีเป็นพิเศษ จนชวนให้เข้าใจว่า วัฒนธรรมการดูหนังโรงของคนอินเดียน่าจะไม่ต่างจากการไปดูละครเวทีเลย
– เซอร์ไพรส์ลำดับถัดมาคือ ความโอ่อ่าของโรงจ้า การตกแต่งที่มีกลิ่นอายแบบวังเปอร์เซียสมกับเป็นโรงหนังในแคว้นราชสถาน
– และเพราะการดูหนังคือโอกาสพิเศษ จึงเห็นภาพอินเดียนชนมากมายถ่ายรูปกันระนาวราวกับนี่คือรอบปฐมทัศน์

DSCF6616 DSCF6614 DSCF6612

ระหว่างดูหนัง
– หนังพูดภาษาฮินดีล้วนๆ โชคดีที่เป็นหนังรักเข้าใจง่าย ว่าด้วยเรื่องคู่รักที่มีพื้นเพต่างรัฐ ต่างวัฒนธรรม จึงต้องปรับตัวเข้าหาครอบครัวของแต่ละฝ่ายให้ได้ และเพราะมันเป็นหนังน่ารักใสๆ นี่ล่ะ พอถึงฉากวี้ดวิ้วเมื่อไหร่ อินเดียนชนก็ตบมือ กรี๊ดกร๊าด ผิวปากแซวราวกับจะแก้เขิน ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนดูหนังกลางแปลงเลย
– หนังอินเดียทั้งที งานเต้นต้องมา ฉากวิ่งๆ จีบกันกลางทุ่งหญ้าป่าโล่งตามธรรมเนียมนิยมถูกเปลี่ยนเป็นเพลงแดนซ์มันๆ ท่าเต้นน่ารัก โลเคชั่นมหา’ลัยแทน
– เซอร์ไพรส์ทิ้งทวนคือ หนังมีพักครึ่งด้วยจ้า พลอยทำให้ได้คุยกับครอบครัวพ่อแม่ลูกที่นั่งอยู่ด้านหลังพวกเรา ทำให้เข้าใจความต่างของวัฒนธรรมเหนือ-ใต้ในอินเดียขึ้นอีกนิด (ซึ่งวันถัดๆ ไปหลังจากนั้น อ่านนสพ.ฉบับภาษาอังกฤษของอินเดีย มีการเชื่อมโยงเรื่องนี้เข้ากับการเมืองที่กำลังมีการเลือกตั้งอยู่ด้วย ยิ่งทำให้เรื่องนี้ฮอตเกินยั้งเข้าไปใหญ่) แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ดูกันจนจบ เพราะตอนพักครึ่งก็เกือบจะห้าทุ่มแล้ว กลัวกลับที่พักกันลำบาก เลยบอกลาราชมันดีร์ หวังว่าจะไปตามหาตอนจบเอาดาบหน้า

แล้วอินเดียก็เซอร์ไพรส์เราไม่สิ้นสุด เมื่อหนังเรื่องนี้กำลังจะมาเข้าฉายแบบจำกัดโรงในไทยเร็วๆ นี้แล้วจ้า
เพลงสนุกมาก ใช้ประกอบเต้นแอโรบิกตอนเช้าได้ :D

Dallas Buyers Club

Posted in film by mangomoment on กุมภาพันธ์ 8, 2014

dallasbuyersclub1

ถึงมันจะเฝือในประเด็นเรื่องการผูกขาดยาของอย. (จนชวนให้สงสัยว่า อย. ใจร้ายเยี่ยงนี้ทุกถิ่นที่หรือไร)
ชายขอบ (ประชากรทางตอนใต้ทางอเมริกายุค 1980 ที่จัดหมวดอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพศที่สาม ผู้ป่วย HIV)
และการดิ้นรนเพื่อเอาชนะโรคร้าย

แต่การเฝ้ามอง รอน วู้ดรูฟ (Matthew McConaughey) เริ่มนับวันถอยหลังจากคำพิพากษาของหมอ
ชะล้างปมเกลียดเกย์ด้วยการย้อนนึกถึงต้นสายปลายเหตุที่ทำให้เขาติดไวรัสร้าย
และผูกมิตรกับเลดี้บอย เรยอง (Jered Leto) เพื่อทำธุรกิจร่วมกัน
(ซึ่ง 2 ประเด็นหลังนี้ขับเคี่ยวกันดีกับลุคคาวบอยของวู้ดรูฟและอาชีพช่างไฟฟ้าที่ภาพลักษณ์คือความ macho
แถมยังกระทุ้งกลับมาที่วิธีสู้กับโรคของวู้ดรูฟก็ช่าง macho ไม่แพ้กัน)
แล้วคลี่คลายเป็นนักบุญพเนจร คอยช่วยเหลือเพื่อนร่วมอาการเดียวกัน
ทั้งหมดนี้ก็มากพอจะช่วยให้เราเหนี่ยวยึดตัวละครนำ-ตัวละครสมทบที่สิงร่างตัวละครนั้นๆ อย่างล้ำเลิศไปได้ตลอดรอดฝั่งแล้ว

กำไรของคนที่รู้ว่าเวลาชีวิตเหลือไม่มาก อาจเป็นความบ้าบิ่นและทุ่มไม่กลัวเจ็บ
ในแง่หนึ่ง มันอาจเป็นไปเพื่อยื้อชะตาต่อชีวิต
ฉากในรถที่วู้ดรูฟอ้าปากกว้างร้องไห้ แต่ไม่มีเสียงบอกกับเราแบบนั้น
แต่ในอีกแง่หนึ่ง ความมุทะลุนั้นก็แปลงเป็นเชิงสร้างสรรค์/ช่วยเหลือ
อาจคิดไปไกล (และดูเวอร์หน่อย) ได้ถึงขั้นที่ว่า
มันคงเป็นสัญชาตญาณการอยู่รอดของมนุษย์
…อย่างน้อยถ้าฉันไม่รอด ขอให้เธอปลอดภัยแล้วกัน…

มันก็มีน้ำเน่านิดๆ ตามประสาแหละนะ
แต่เราแพ้ทางเรื่อง LGBT เรื่องจำพวกคนเล็กๆ ที่กล้าต่อกรกับองค์กรใหญ่ตลอด
บางครั้งดรามาเล็กๆ น้อยๆก็จำเป็นต่อชีวิต เพื่อให้ต่อมซาบซึ้งทำงานบ้างล่ะน่า

นี่คือม้ามืดหนังเข้าชิงออสการ์ปีนี้สำหรับเรา
ทั้ง Matthew และ Jered คู่ควรกับ Best Actor และ Best Supporting Actor แน่ๆ

BKK World Film Festival 2013

Posted in film by mangomoment on ธันวาคม 23, 2013

แหม่… กว่าจะเขียนครบ เล่นเอาเทศกาลผ่านไปแล้วตั้งเกือบเดือนครึ่งแน่ะ
ปีนี้ถือว่าถูกหวยหลายรางวัล เจอหนังที่ชอบหลายเรื่อง
และที่เหมือนทุกปีก็คือ หนังฝรั่งเศสที่ได้ดูในเทศกาล มักเป็นหนังที่ชอบมากๆ เสมอ

.

tom-at-the-farm-xavier-dolan

Tom at the Farm (France) A-
มางวดนี้ Dolan ใส่วิกผมทอง โชว์ความเจิดเริ่ดรับบทนำเองอีกครั้ง
ความเด็ดดวงของ Dolan ยังอยู่ เราชอบวิธีระบายความโศกเศร้าของทอมที่เพิ่งสูญเสียคนรักลงบนกระดาษทิชชู เพื่อที่ว่าเมื่อเดินทางมาถึงฟาร์มบ้านเกิดของชายคนรัก เขาจะงุบงิบปิดบังความสัมพันธ์ชาย-ชายไม่ให้แม่ของอดีตคนรักรู้ได้ แต่ความตุงนังแบบชาย-ชายก็กลับโยงใยไปสู่ฟรานซิส (พี่ชายของแฟนเก่าของทอมนั่นแหละ) จนได้

ถ้ามองว่า ‘ฟาร์ม’ เป็นสถานที่ primitive การที่ทอมเลือกอยู่ที่ฟาร์มแห่งนั้น แม้ว่าพิธีศพจะจบสิ้นไปแล้ว แม้ว่ามันจะเป็นฟาร์มที่มีวัวพิการเหมือนตัวตนของทอมที่ขาดๆ เกินๆ มีทุ่งข้าวโพดแห้งกรังใบแหลมไม่ต่างจากมีดที่พร้อมกรีดเนื้อเมื่อวิ่งผ่าน ซึ่งต่างจากฟาร์มสีเขียวชอุ่มแบบที่เราๆ จะจินตนาการถึงเมื่อเอ่ยถึง ‘ฟาร์ม’ แถมด้วยความป่าเถื่อนดุดันของเจ้าของฟาร์มที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย การประทุษร้ายแบบไม่หวั่นเกรงกฎหมาย อำนาจเบ็ดเสร็จขึ้นอยู่กับเจ้าของบ้านล้วนๆ แต่ถ้าตัดเรื่องความกล้ำกลืนพวกนี้ออกไป การอยู่ที่ฟาร์มแห่งนี้แล้วมีตัวตนก็ถือเป็นเรื่องคุ้มค่า

ณ จุดนั้น สำหรับวัยรุ่นอย่างทอม (รวมถึงฟรานซิสด้วย) แม้จะผ่านเหตุการณ์ถูกทำร้ายทั้งจิตใจ (งานศพคนรัก+การเปิดเผยตัวตนไม่ได้) และร่างกาย (ถูกทำร้ายนับไม่ถ้วนจากฟรานซิส) ตัวตน/การได้กับการยอมรับจากใครสักคน อาจสำคัญจำเป็นกว่าความเป็นอยู่สวยสงบเหมือนที่นิตยสารพาฝันมักพยายามบอกเราก็ได้

ส่วนที่เหลือ, อาจผิดที่เราที่คาดหวังจาก Dolan มากกว่านี้
หรืออาจเพราะเพิ่งดูหนังของเขาติดต่อกันเมื่อไม่นานมานี้
แต่เรื่องนี้นี่มาแบบลูกไม้เดิมๆ เลยนะ เซ็งเลยล่ะ Dolan เอ๋ย

.

.

wtdtab_2759_gl

What they don’t talk about, when they talk about love (Indonesia) A+
นี่มันคล้าย ‘เต้นรำในความมืด’ ของ วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง มากๆ
ความโรแมนติกในความบอดใบ้ช่วยชูใจจนทำให้ความรู้สึกตอนดูเรื่องนี้มีความสุขจนเข้าใจคำว่า uplifting ได้ไม่ยาก

ชอบความน่ารักของสาวน้อยตาบอดไม่สนิทที่อยากโตเป็นสาว เฝ้ารอว่าประจำเดือนครั้งแรกจะมาเมื่อไหร่
อยากทำให้หนุ่มน้อยตาบอดสนิทที่เธอแอบชอบประทับใจ จึงลุกขึ้นมาหวีผมร้อยครั้ง
ฉีดน้ำหอมให้มีกลิ่นผิดสังเกตจนเขาจาม เพื่อที่จะทักเธอว่า ‘Your perfume is fancy,right?’

คำพูดเชยๆ ว่า ‘ผู้หญิงตกหลุมรักด้วยหู ส่วนผู้ชายตกหลุมด้วยตา’ ดูพอเหมาะพอเจาะดีเมื่อเอามาใช้เล่าเรื่องคู่รักสาวตาบอดกับชายใบ้ ทั้งคู่นัดเจอกันริมสระน้ำ ส่งจดหมายภาษาเบรลล์ให้กัน เราไม่รู้หรอกว่าตอนที่ฝ่ายชายดูหนังภาษามือเรื่อง A Midsummer Night Dream เขาคาดหวังให้ภูตน้อยเอาน้ำค้างไปหยดเปลือกตาผู้หญิงที่เขารัก เพื่อที่เธอจะได้ตกหลุมรักเขาเป็นคนแรกเมื่อเธอลืมตามองเห็นหรือไม่ หรือเขาอาจไม่หวังเช่นนั้นเลย เพราะในโลกแห่งความมืด เธอมีเขาเป็นคนรักดีอยู่แล้ว

แน่นอนว่า การมีความบกพร่องทางการสื่อสาร ย่อมหมายความว่า หลายๆ สิ่งที่พวกเขาใฝ่ฝันเป็นไปไม่ได้
คนตาบอดเต้นบัลเล่ต์ไม่ได้, คงไม่มีเอเจนซี่ไหนรับแคสติ้งสาวน้อยตาบอด, หนุ่มตาบอดจะพาสาวคนรักนั่งมอเตอร์ไซค์ชมวิวยามค่ำคืนได้ยังไง, คุณแม่รังเกียจลูกสาวตาบอด ความสนิทสนมระหว่างทั้งคู่จึงห่างเหิน, การเป็นคนไม่ค่อยพูดอาจดีกว่าสื่อสารทางปากเล่าความประทับใจเมื่อแรกพบไม่ได้เลย

หากเลเยอร์แรกของเรื่องนี้คือความโรแมนติก
เลเยอร์ชั้นลึกลงไปกว่าคือ ความโศกเศร้าในสิ่งที่ไม่มีทางได้ดังหวัง หมดหวัง จนคลี่คลายเป็นความปกติธรรมดาและยอมรับ
เพราะมีแต่พวกเขาเองเท่านั้นที่จะเข้าใจกันและกัน
ถูกล้อมอยู่ในโรงเรียนแห่งนั้นที่มีเด็กตาบอดต่างวัยประสานเสียงร้องเพลงชาติกันโดยพร้อมเพรียง

.

.

young-and-b_2564648b

Young and Beautiful (France) A++
ไม่ว่ายุคไหน เรื่องเพศและสาวไซด์ไลน์ก็เหมือนมีช่องทางลับที่จะพาเราไปรู้จักอาณาเขตความรู้สึกใหม่ของสาวแรกรุ่นเสมอ

มรดกจากยุควิกตอเรียที่ตกทอดมาถึงยุคนี้ไม่เคยถูกใช้จนหมดเสียที
แม้แต่เด็กสาวสมัยใหม่อย่าง Isabelle ก็ยังสืบทอดความเชื่อนั้นแบบกลายๆ
‘ครั้งแรก’ บนหาดทรายไม่ทำให้เธอรู้สึกถึงความรัก มันเป็นการสูญเสียที่ไม่คุ้มค่า
ตัวตนอีกด้านหนึ่งมองตัวเธอที่ทอดร่างบนหาดทรายด้วยสายตาตำหนิ

แต่วิธีลบลืมความรู้สึกผิดนั้นอาจทำให้ Isabelle มาไกลเกินไป
เซ็กส์กลายเป็นการฆาตกรรมโดยไม่ได้ตั้งใจ
ความรู้สึกผิดซ้อนทบหนาขึ้นไปอีกชั้น
ซ้ำร้าย.. บาดแผลครั้งนี้ไม่อาจปิดบังง่ายๆ เหมือนตอนเด็กๆ ที่เราเดินชนโต๊ะ แล้วแม่ก็เอาพลาสเตอร์มาปิดแผลให้

การพยายามกลับไปใช้ชีวิตเหมือนวัยรุ่นทั่วไปช่างเป็นเรื่องยาก
การกลับเข้าไปยังห้องแห่งการฆาตกรรมคราวนั้นไม่ใช่การลบลืม
แม้ว่าห้องนั้นจะถูกปูเตียงใหม่ตึงสะอาดเอี่ยม
แม้ท่าทีของหญิงชราคนนั้นจะเหมือนญาติผู้ใหญ่ที่พยายามจะปลอบโยน ลูบหัวเด็กเล็กๆ ว่า ไม่เป็นไร
แต่เมื่อใครคนนึงก้าวสู่เขตแดนความเป็นผู้ใหญ่ไปแล้ว
ความเยาว์วัยไร้เดียงสาก็จะถูกพรากไปตลอดกาล

.

.

ApoliticalRomance2

Apolitical Romance (Taiwan) A-
มันมีธรรมเนียมนิยมอะไรรึเปล่า ทำไมหนัง rom-com เอเชียถึงต้องมีนางเอกจอมล้งเล้ง มีพระเอกที่ไม่รู้จักโต
เอาเถอะ, ถึงมันจะมาด้วยแพทเทิร์นเดิมๆ ที่ว่าด้วย ความอลหม่านและการช่วยเหลือกันจนเข้าใจปมปัญหาของกันและกัน
แต่พล็อตย่อยเรื่องพรมแดนจีน-ไต้หวัน เรื่องเล่าของชายชราต่างๆ ที่มีอดีตคนรักอยู่ในแผ่นดินใหญ่ก็จับใจเราได้ดี

ไม่มีอะไรรับประกันว่า ความสัมพันธ์ที่ก้าวไปใกล้เส้นความสนิทสนมจะยืดยาวไปถึงไหน
เรื่องเล่าเล็กๆ ประปรายในหนังพยายามบอกเราว่า มีเหตุผลร้อยแปดที่เราจะพรากจากกันได้
ทั้งพรมแดน สงคราม ครอบครัวที่ต้องกลับไปดูแล หรือช่วงวัยที่ทำให้ต้องจากครอบครัวและบ้านเกิด
ในขณะที่ Qing Lang เดินทางจากเมืองจีนมาตามหาคนรู้จักในไต้หวันที่มีแต่ชื่อเป็นตัวบอกใบ้
แต่ A-Zheng กลับปล่อยให้ความเหินระหว่างพ่อกับเขาถ่างช่องว่างต่อไป แม้จะรู้แห่งหนตำบลที่พ่ออยู่ แต่แค่ความไม่เข้าใจที่มีความรังเกียจฉาบทับไว้จางๆ ก็มากพอที่จะทำให้พ่อลูกที่อยู่เขตแดนเดียวกันไม่ได้พบปะกัน

ถ้าการแยกจากเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้
การพบเจออีกครั้งก็อาจไม่ใช่สิ่งที่ควรคาดหวังเช่นกัน
อย่างมากที่สุด, การรักษาความสัมพันธ์ที่ยังดำเนินอยู่ให้ดีที่สุดอาจเป็นสิ่งที่เราพอควบคุมได้
แต่ในเมื่อสนามแม่เหล็กโลกยังเคยกลับขั้วได้
เราก็น่าจะพอหวังถึงการการพลัดพรากที่อาจนำไปสู่การพบพานได้บ้างเหมือนกันนี่นะ

.

.

TABU_5

Tabu (Portugal) B+
ถ้าหนังสือของมาร์เกซเป็นหนัง มู้ดแอนด์โทนของมันก็จะออกมาประมาณเรื่องนี้
ทั้งสาวยิปซีในป่าที่โผล่ออกมาเตือน, ฝันเห็นลิงบอกว่าจะมีโชค คุณยายเลยไปคาสิโน, สาวงามที่ตื่นเต้นเมื่อได้รับจระเข้เป็นของขวัญ และเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง, ชนเผ่าที่ช่วยทำคลอด, ขบวนแห่ร้องระบำเมื่อทำคลอดเสร็จ, กลิ่นอายของยุคอาณานิคมกล้ำกราย ฯลฯ

Paradise Lost เป็นส่วนแรกของหนัง เล่าเรื่องหญิงชราที่ความจำเลอะเลือน พฤติกรรมแปลกประหลาด เย่อหยิ่ง ไม่ไว้ใจใคร
ส่วนหลังคือ Paradise ที่ค่อยๆ คลี่ปมว่า ความทรงจำที่หายไปของเธอหลบลี้ไปทิ้งร่องรอยไว้ในช่วงเวลาใดของชีวิต

หากจะกล่าวแบบรวบรัด ความทรงจำครั้งยังสาวของออโรร่าก็คือเมโลดรามาดีๆ เรื่องหนึ่ง
กลิ่นดินปืน สาวสวย หนุ่มรูปงามผู้มาทีหลัง เพื่อนแสนดีที่มักเป็นฝ่ายเสียสละเสมอ ทุกอย่างเข้ารูปรอยโศกนาฎกรรมความรักที่สมบูรณ์แบบ เข้าตำรับความเนี้ยบของหนังขาว-ดำยุคหลัง และงดงามทางองค์ประกอบไม่แพ้ Blancanieves

หากหนังขาว-ดำคือ การย้อนกลับสู่ยุคของความสามัญ หวนหาความงามที่คลาสสิก
ความทรงจำที่สถิตนิ่งอยู่ในคืนวันที่มีรัก วันที่ยอมสละรัก แล้วเก็บใส่กรอบความจำที่เริ่มเป็นเศษเสี้ยวพร่าเลือน ก็เหมือนจะย้ำบอกเรากลายๆ ว่า อดีตงดงามเสมอ เป็น Paradise ที่ต่อให้แหว่งวิ่นในปัจจุบัน หากแต่ในบางเสี้ยวนาทีที่ชีวิตดำเนินอยู่ ความสุข-ความหลังที่ถูกกดทับซ่อนเร้นจะผุดพรายเปล่งประกายขึ้น แม้ในนาทีสติเลอะเลือน ราวกับว่าอดีตแสนหวานนั้นไม่เคยจางหายไปไหน

.

.

stranger by the lake

Stranger By The Lake (France) A++++++
ขอยอมรับว่านี่คือ guilty pleasure
เพราะมันคือหนังที่เราคาดไม่ถึงว่า จะเป็นเรื่องที่ชอบที่สุดในเทศกาลปีนี้!

พล็อตง่ายๆ ที่ว่าด้วยทะเลสาบด้านหนึ่งที่เหล่าชายรักชายทั้งหลายจะแวะไปนั่งพักผ่อนหย่อนใจ บ้างมองน้ำดูฟ้า บ้างพูดคุย เบื่อก็ลงว่ายน้ำ หน่ายหนักก็จูงคู่ขาเดินเข้าป่า ออกกำลังกิจกรรมเข้าจังหวะ เรื่องทั้งหมดไม่เกิดขึ้นริมหาดก็ในป่า ทุกบ่ายแฟรงค์จะไปที่หาดนี้ บางบ่ายก็นั่งคุยกับเฮนรี่ ชายวัยกลางคนที่มีพฤติกรรมต่างจากคนอื่นๆ บนหาด เพราะเขาไม่เคยลงเล่นน้ำ ไม่เคยเข้าป่ากับใคร แต่เหตุผลสำคัญที่ทำให้แฟรงค์มายังหาดแห่งนี้อย่างสม่ำเสมอก็เพื่อแอบเฝ้ามองมิเกลที่เขาหลงรัก

สิ่งที่ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอนี่ล่ะที่น่าหวั่นใจ
ยิ่งความแน่นอนมีมากเท่าไหร่ นั่นยิ่งเป็นสัญญาณว่าอย่าวางใจ
เย็นวันหนึ่งที่แฟรงค์เห็นเหตุการณ์ชวนตระหนก
แต่เขากลับปิดเป็นความลับอำพราง ดำเนินชีวิตต่อไปราวกับทะเลสาบแห่งนั้นยังนิ่งสงบ
ทว่า นี่คือการเปิดฉากสู่จุดจบที่คนดูอย่างเราต้องกุมขมับแล้วร้อง ‘เฮ้ย!’ ออกมาลั่นโรง

หากมองอย่างตื้นเขินว่า กิจกรรมทางเพศคือความสุข
คนที่น่าสงสัยที่สุดย่อมต้องเป็นเฮนรี่ ผู้ที่มาทะเลสาบฝั่งนี้เพื่อนั่งกอดอกเฉยๆ
ใช้เวลายามบ่ายให้หมดเปลืองไปแล้วมาใหม่ในวันถัดไป
แต่ที่ริมทะเลสาบแห่งนี้ที่หากข้ามไปอีกฟากหนึ่ง โลก heterosexual ก็ยังดำเนินไปตามปกติ
การมาพักผ่อนของเฮนรี่ แฟรงค์ มิเกล และเหล่าชายหนุ่มทั้งหลายอาจเป็นการอยู่ร่วมกลุ่มในพื้นที่หนึ่ง
เพื่อที่พวกเขาจะไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเหมือนในโลกอีกฝั่งที่ถูกกีดกัน โลกที่มองตากันก็เข้าใจว่าเราเป็นพวกเดียวกัน
แต่ช่างโชคร้ายที่มันก็เป็นโลกใบเดียวกับที่ใครบางคนแกล้งหลงลืมความถูกต้อง เพื่อรีบไขว่คว้าความสุขมาไว้ในมือ
เป็นธรรมชาติหรือาจเป็นถึงสัญชาตญาณของมนุษย์ที่ไม่ว่าเพศไหนๆ ก็ย่อมกระโจนเข้าหาโอกาสที่หล่นใส่ตัว

มันเหนือชั้นขึ้นไปกว่าหนัง LGBT ทั่วไปด้วยการคว้านลงไปในแง่มุมความเว้าแหว่งโดดเดี่ยวที่เพศไหนๆ ก็ย่อมเข้าใจ
ท้ายที่สุดแล้ว ความเปลี่ยวเหงาอาจเป็นภาษาสากลที่ทลายกำแพงแบ่งแยกเพศก็เป็นได้
(จบได้เวิ่นเว้อมาก แต่รู้สึกประมาณนี้แหละ)

.

.

SONY DSC

Stray Dogs (Taiwan) B
การมาเขียนถึงหนังเรื่องนี้หลังดู Like Father, Like Son ก็ยิ่งทำให้เห็นภาพสเกลใหญ่ว่า
สิ่งที่ผู้คนกำลังกังวลต่อเรื่องสถาบันครอบครัวในเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นกลางความเป็นอยู่อู้ฟู่ หรือครอบครัว homeless อย่างในเรื่องนี้ ทุกบ้านต่างดิ้นรนและมีจุดเปราะบางภายในอันเป็นผลพวงจากพิษทุนนิยมโตไวทั้งสิ้น

การหาเลี้ยงปากท้องลูกน้อยทั้งสองด้วยอาชีพยืนถือป้ายโฆษณาริมถนน ช่างดู dehumanized ตัวคุณพ่อให้เป็นเหมือนมนุษย์บิลบอร์ด (แถมตลกร้ายด้วยการให้ถือป้ายอพาร์ทเมนต์ให้เช่าอีกต่างหาก) นอกจากลูกๆ จะเดินเล่นฆ่าเวลา ชิมอาหารในห้างรอพ่อเลิกงาน 3 พ่อลูกประทังชีวิตด้วยอาหารกล่องลดราคาในซุปเปอร์มาร์เก็ต อิ่มหนำเรียบร้อยก็พากันล้างหน้าถูตัวในห้องน้ำแห่งหนึ่ง ก่อนจะหิ้วแก้ว แปรงสีฟัน ผ้าเช็ดตัว กลับไปยังที่ซุกหัวนอน สวมเสื้อหลายชั้นให้อุ่นพอจะผ่านค่ำคืนฝนพรำไปได้

ไม่ว่าจะแร้นแค้นหรือมีกิน ทุกครอบครัวล้วนใฝ่หาชีวิตที่ดีขึ้น
บางครั้งเงินอาจเป็นผู้ปลดปล่อย แต่สำหรับครอบครัวนี้ ความปรารถนาของพวกเขาซ่อนเร้นอยู่ในกะหล่ำปลีที่เด็กน้อยวาดหน้ายัดผ้าเสริมหน้าอกแล้วตั้งชื่อให้ว่า Big Boobs แล้วตกดึกคืนหนึ่งคุณพ่อที่เมากรึ่มๆ ก็คว้ากะหล่ำปลี Big Boobs ขึ้นมาฉีกทึ้ง กัดกินกร้วมๆ ทั้งน้ำตา มันอาจบอกกับเราว่า ทั้งพ่อทั้งลูกต่างกำลังโหยหาผู้ปลดปล่อยจากภาวะทุกข์ทนที่เป็นผู้หญิงสักคน
ผู้หญิงที่จะมาจัดการดูแลทุกอย่างให้ชีวิตดีขึ้นกว่านี้
ก็ในเมื่อครอบครัวตามอุดมคติต้องประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก ไม่ใช่หรือ

ครั้นแล้วหญิงสาวผู้ปลดปล่อยก็มา ‘ทำบ้านให้เป็นบ้าน’ ด้วยการพา 3 พ่อลูกเข้าไปอยู่ในบ้านบรรยากาศโกธิกมึดทึบเหมือนอยู่ในตึกร้าง กำแพงตะปุ่มตะป่ำ มีข้าวของผิดที่ผิดทางอย่างเก้าอี้นวดไฟฟ้าหรือห้องน้ำที่มีอ่างอาบน้ำ ไม่ต่างจากผู้หญิงคนนี้ที่เข้ามาเป็นอีกหนึ่งสมาชิกกลายๆ ซึ่งยากจะวางใจว่า เธอจะเป็นสมาชิกถาวรของครอบครัวนี้ได้จริงหรือ

ทั้งๆ ที่ในตำราเรียนและภาพโฆษณามากมายผลิตซ้ำว่า
ครอบครัวที่พร้อมหน้าในบ้านอันอบอุ่นคือครอบครัวที่สมบูรณ์
แต่เหตุใดเราจึงยังวางใจไม่ได้ว่า ครอบครัวส่วนผสมพิลึกนี้ที่มีองค์ประกอบตามแบบฉบับทุกอย่างครบครัน
จะยังไม่อาจอบอุ่นแสนสุขได้เหมือนครอบครัวในอุดมคติ

… คำตอบมันซ่อนเร้นอยู่ในใจคนดูอยู่แล้ว
รวมถึงภาพทิวทัศน์พาโนรามาในตึกร้างที่บังคับสายตาให้ร่วมจ้องมองนานเกือบ 14 นาทีด้วย

.

.

isthmus_00_o

ที่ว่างระหว่างสมุทร (Thailand) B-
คำถามที่ว่า ‘เรารู้จักเพื่อนบ้านในประเทศใกล้เคียงแค่ไหน’
อาจมีคำตอบที่ไม่เจ็บปวดเท่า ‘เรารู้จักชาวต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในบ้านเรามากน้อยแค่ไหน’
เรารู้เพียงว่าเขาเข้ามาทำงาน เป็นแม่บ้าน เป็นยาม เป็นแรงงาน
เราอาจไถ่ถามว่าบ้านเขาอยู่ที่ไหน
แต่เชื่อเถอะว่า คำตอบในความรับรู้มักคร่าวและกว้างเกินจะนึกภาพออก
มันเป็นเพียงคำถามฆ่าเวลาตามมารยาทเท่านั้น

ไม่มีใครอยากละทิ้งบ้าน
แต่หลายคนต้องออกจากบ้านด้วยความหวังว่าท้องทะเลที่ข้ามมาจะพาไปสู่โอกาสที่ดีกว่า
ตำนานร่มสีแดงเป็นนิทานปลอบใจให้ความหวังว่า อีกไม่นานเราจะได้กลับไป
กลับบ้านระยะสั้นเท่ากับวันหยุด แต่การลากลับถาวร หากไม่ใช่เพราะถึงจุดเต็มอิ่ม นั่นอาจหมายถึงการลาลับ
ทางกลับบ้านใต้ร่มสีแดงยามฝนพรำทอดยาวไปสู่ดินแดนที่เคยคุ้น
ไปสู่ผืนดินที่ไม่ต้องปรับตัวโยกย้ายไปไหน ไปสู่อ้อมอกของครอบครัวที่พรากจากกันไปนาน

.

.

place on earth_D6D6D6

A Place on Earth (France) B+
เรามีจุดเช็กอินบ่งบอกว่า ณ ตอนนั้นตำแหน่งแห่งหนเราอยู่ที่ไหน
แต่จุดบอกตัวตนของเราจะวัดได้จากอะไร- –
สิ่งที่ทำ, งานอดิเรก, ความหลงใหลน่าจะเป็นสเกลวัดคร่าวๆ แต่ลงลึกรายละเอียดได้มากที่สุดแล้ว

ช่างภาพที่ตามหาแรงบันดาลใจไม่เจอสักที เขาจึงไม่มีผลงานชิ้นใหม่ประดับแกลเลอรี
น่าเศร้าดีแท้ที่เมื่อปราศจากผลงานแล้ว มืออาชีพก็กลายเป็นแค่ไอ้ขี้เหล้าไปวันๆ
จนวันนึงที่เขาบังเอิญได้รู้จักนักศึกษาประวัติศาสตร์ศิลป์จากตำแหน่งกล้องถ่ายภาพในห้องที่เมื่อมองออกไปบนดาดฟ้าก็เจอเธอกำลังจะกระโดดตึกฆ่าตัวตาย โชคดีที่ตึกไม่สูงนัก เธอแค่ได้รับบาดเจ็บ และเขาวิ่งไปช่วยไว้ทัน
โชคดีของเขาเช่นกันที่เธอกลายมาเป็น muse คนใหม่ในการสร้างผลงาน

ความทะยานอยาก ความมุ่งหวังที่จะไปสู่จุดที่ดีขึ้นกว่าเดิมเป็นทั้งเรื่องน่ายกย่องและชวนระแวงในคราวเดียวกัน
การลอบถ่ายภาพเธอในอิริยาบถต่างๆ แบบลับๆ ราวกับเป็นพวกถ้ำมอง
จึงเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เขาได้ภาพเธอที่เป็นธรรมชาติที่สุด
ความสุขของเขาคือการที่มีเธอเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
พร้อมกันนั้นเขาต้องเสริมสร้างกำลังใจให้เธออยากมีชีวิตอยู่ต่อไป เพื่อเขา เพื่องานของเขาที่ต้องมีเธอเป็นองค์ประกอบ

แต่รูโหว่ของเธอต่างจากของเขา
เธอเป็นจุดอุดรูรั่วสำหรับเขา แต่สาวน้อยนักศึกษาอย่างเธอมีโลกกว้างที่ยังอยากออกไปทำความรู้จัก
ตัวตนของเราแต่ละคนถูกชักจูงไปด้วยความหลงใหลในสิ่งที่แตกต่าง
ณ จุดหนึ่งเราอาจบังเอิญได้พานพบ แต่ท้ายที่สุด เมื่อถึงวันหนึ่งซึ่งเราเจอโจทย์ที่แตกต่าง จุดตัดย่อมแยกห่าง

การเข้าถึงสิ่งที่หลงรักอาจต้องแลกกับการฝากความทรงจำและทิ้งร่องรอยว่าครั้งหนึ่งเราเคยดำรงชีวิตบนอยู่โลกใบนี้
หรือเรียนรู้ชีวิตจากอีกชีวิต แล้วอยู่ต่อด้วยความหลงใหลในสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะคอยฉุดมือรั้งเราไว้ให้มีความหวังในการใช้ชีวิตต่อไป

Cherries are too sweet

Posted in film by mangomoment on กันยายน 20, 2013

lesamoursimaginaires_07

เรายอมแพ้เธอแล้ว, Xavier Dolan
เราอาจจะเผลอหลวมตัวซื้อตั๋วดู I Killed My Mother เพราะชื่อเรื่องเย้ายวน แต่หลังจากวันนั้นเราก็จำชื่อเธอได้แม่น
ปลายปีที่แล้วก็ Laurence Anyways เมื่อไม่กี่วันก่อนก็ Heartbeats (Les Amours Imaginaires)
ลายเซ็นเธอคงเส้นคงวาสม่ำเสมอ
ถ้า Kubrick กับ Wes Anderson เน้นองค์ประกอบสมมาตร ของเธอคือความก้ำกึ่ง
เพราะมีที่ว่างให้สีสดๆ แทรกตัวอยู่ในจังหวะสโลว์โมชั่นที่ชวนให้คิดว่า
ถ้าหว่องกาไวเป็นวัยรุ่นฝรั่ง ก็คงทำอะไรออกมาคล้ายๆ เธอนี่ล่ะ
เราไม่เคยดูหนังของใครแล้วอยากกดปุ่ม pause บ่อยเพื่อกดปุ่ม print scrn เท่าของเธอเลย

ว่าด้วยเรื่องล่าสุด
เธอเล่นเอาเราเผลอฮัมเพลง Bang Bang ตลอดทางกลับบ้าน
เราชอบ Marie เราชอบผู้หญิงคาแรกเตอร์แบบนี้ เกือบจะบ้าบอ ไม่สนสายตาดูแคลน (แถมเธอยังคลั่งแฟชั่นวินเทจซะด้วย)
Nicolas ก็น่ารัก แต่เราหมั่นไส้ตานี่มากกว่า หมั่นไส้สายตายิ้มเยาะ เพราะรู้ดีว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์สามเส้านี้
แล้วก็เธอที่เล่นเป็น Francis ชอบความรู้สึกเจี๋ยมเจี้ยม อึกอัก เหมือนคนไต่เชือกที่ต้องเดินแบบระมัดระวังตลอดเวลา
ชอบที่เล่นกับสีสดๆ (คิดว่าช่วงแรกๆ แม่สีแต่ละสีใช้แทนคาแรกเตอร์แต่ละคนด้วยซ้ำ แต่ตอนท้ายๆ ก็คิดว่าดึง symbol ของสีมาใช้ด้วยนั่นแหละ)

ชอบที่มันเกือบจะลวงเราว่าเป็นหนักรัก
แต่จริงๆ คือหนังเกี่ยวกับคนหลงตัวเอง 3 คนที่ ‘คิดว่าตัวเองกำลังมีความรัก’ ต่างหาก
พอถึงตอนจบ ช็อกโกแลตฟัดจ์โปะเชอร์รี่กับมาร์ชเมลโลเลยชิดซ้าย
เพราะซีนสุดท้ายที่ 3 คนเจอกัน มันเปรี้ยวเข็ดฟันจริงๆ

ความฉาบฉวยกลายเป็นค่านิยมของยุคเราไปแล้วสินะ
แป๊บเดียวก็คิดว่ารัก แป๊บเดียวก็คิดว่าเสียใจปางตาย การคบหาคือความสนุกเหมือนเล่นเกม
บทกวีคลาสสิกที่อุตส่าห์จำได้ขึ้นใจ/ คำรักจากหนังสักเรื่องที่คิดว่าโรแมนติกเหลือหลายกลายเป็นสิ่งสูญค่าเมื่ออีกฝ่ายเขวี้ยงทิ้ง
ร้ายกว่านั้นคือเป็นขยะพร้อมเผาทิ้ง เพราะเพียงผ่านไปไม่นานเจ้าตัวก็ลืมเลือนเหมือนไม่เคยเกิดขึ้น
แล้วรีบเริ่มความสัมพันธ์แบบ ‘แป๊บเดียวก็คิดว่ารัก’ ใหม่อีกครั้ง
วนเวียนไปมาอยู่เท่านั้น.

7168774765_5198169ef7_z 7353987902_74c9fef41f_z amoursimaginaires Les Amours Imaginaires 002 7353984594_1cdaa5ccc6_z tumblr_mmv1wtSE0T1qh2ocoo3_1280 les-amours-imaginaires_marshmallows

10th world film bkk 2012

Posted in film by mangomoment on พฤศจิกายน 26, 2012

เห็นคนอื่นเขียนถึงกันอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน เลยใจแป้วไม่ค่อยอยากเขียนเท่าไหร่
แต่คิดว่า ลงในนี้มันไม่ค่อยมีคนมาอ่านอยู่แล้ว เลยรู้สึกปลอดภัยนิดนึง 555
มีแต่ความรู้สึกชอบ/ไม่ชอบล้วนๆ หาสาระไม่ค่อยได้นะจ๊ะ
.


Colors in the Dark
(Sophie Heldman, Germany) A-
บ้านที่ Fred กับ Anita อยู่ มองปราดเดียวก็เดียวรู้ว่า นี่มันบ้านในฝันของทุกคนชัดๆ
สวนใหญ่ๆ หน้าต่างบานกว้างมองเห็นสวน มีห้องครัว ห้องนอนแบบที่นิตยสารตกแต่งบ้านเห็นแล้วต้องขอเอาไปลงแน่ๆ
แต่หนังก็ตบหน้าเราด้วยการบอกว่า Fred แอบไปซื้ออพาร์ตเมนต์ไว้ห้องนึง ส่วน Anita ก็ประชดทำตาม
บ้านสวยๆ ที่เห็นทีแรกถูกรูดม่านปิดเป็นบ้านมืดๆ ทั้งคู่เลือกไปอยู่ในห้องเล็กๆ ใช้ชีวิตโดดเดี่ยว
(ควรดูเรื่องนี้ควบกับ way ฉบับ high living :D)
ส่วนฉากที่ชอบมากคือตอนที่ทั้งคู่เตรียมกระบอกฉีดอินซูลินให้กัน ความโรแมนติกวัยชรา มันก็ต้องประมาณนี้ล่ะนะ
.
.


Holy Motors
(Leos Carax, France) A++++++
นี่กินอะไรเข้าไปถึงทำหนังแบบนี้ออกมาได้
ไม่ต้องคาดหวังอะไรกับหนังเรื่องนี้เลย เพราะมันเหนือความคาดหมายทุกอย่าง จนไม่คิดว่าหนังจะไปได้ขนาดนั้น
แทบจะกรี๊ดให้ทุกครั้งที่ M. Oscar เปิดประตูรถลิมูซีนลงมา
(โดยเฉพาะบทคนท่อตาเป็นต้อตามในรูปนี่แหละที่คุณพี่เล่นแบบไม่สนใจสิ่งใดในโลกหล้าอีกแล้ว)
แต่ละงานที่ Oscar ต้องทำมันชวนเหวอทั้งนั้น สงสัยว่าคนประเภทไหนจ้างมาให้ทำ
แถมส่วนใหญ่ยังงานเชิงเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์/การคลี่คลายความสัมพันธ์อีก
แล้วก็ชอบที่หนังมันเอาความเป็นหนัง/การแสดงมาเล่นล้อในหนังอีกที
เพลง Who Were We? มันเลยโผล่มาเหมาะเหม็งว่า จริงๆ แล้วเราก็ต่างกำลังแสดงกันอยู่รึเปล่า
q&a หลังหนังจบ มีคนดูคนนึงบอกว่า ขอบคุณที่ทำหนังแบบนี้ขึ้นมา
ส่วนคุณผกก. ก็มีประโยคคมคายบอกอีกว่า
”I don’t want to make new films as the same person, I need to reinvent myself.”
ถือว่าฟินกันไปตามระเบียบ

.


Parts Of The Heart
(Paul Agusta, Indonesia) B+
มันคือจิ๊กซอว์ชีวิตรัก 8 ชิ้นของคุณผู้กำกับ ตั้งแต่ 10 ขวบยันอายุ 40 ปี
ถ้าจะจัดกลุ่มให้เป็นหนังเกย์ เราคิดว่า มันเป็นหนังที่นำเสนอภาพเกย์ได้น่ารักดี
อย่างในตอน The Game Kiss ที่เล่นเกมเพลย์แล้วจุ๊บกัน (คือ วิธีจุ๊บน่ารักดี จนอธิบายไม่ถูก แล้วก็เขินเกินจะเขียนอ่ะนะ)
ตอน The Couch and the Cat ที่นั่งคุยกันบนโซฟา มีแมวคั่นกลาง แล้วก็ไปรื้อตู้หยิบเสื้อกันหนาวมาให้
แต่มันก็มีบางตอนที่รู้สึกว่า ฟูมฟายเยอะไปหน่อย
สิ่งที่ชอบที่สุดอีกอย่างคือ เพลงประกอบเรื่อง ดูดีมีสไตล์ รวมเป็นเพลงอินดี้ได้ 1 อัลบั้ม :D

.


Under Snow
(Ulrike Ottinger, Germany) A+++
ทีแรกตั้งใจจะดู Bad Intention แต่เหมือนฟิล์มมีปัญหา เลยเปลี่ยนใจมาดูเรื่องนี้แบบไม่รู้เหนือรู้ใต้อะไรทั้งสิ้น
เปิดมาช่วงแรกหิมะขาวโพลนเต็มจอ มันขาวโพลนแบบสวยสงบนิ่งมากจนไม่คิดว่า ป่ามันจะปุกปุยได้ขนาดนี้
ถัดมาเป็นฉากคนในครัวง่วนเตรียมอาหาร จัดเทมปุระลงถาดสวยงาม
ถัดมา มีสาวหมวยหัวโทรมนั่งคีบกินนู่นนั่น ซึ่งทุกอย่างในสำรับดูดีสุดๆ (มั่นใจว่าออกจากโรงนี่ต้องกินอาหารญี่ปุ่นแน่ๆ :D)
ถัดมา ความเพี้ยนเริ่มปรากฎ มีผู้หญิงมาดีดเครื่องดนตรีตะแน้วๆ
มีคู่รักคู่นึงป้ะกัน หน้าขาวเป็นละครคาบูกิทั้งคู่ แถมฝ่ายหญิงเป็นวิญญาณหมาป่าตั้งแต่ยุคเอโดะอีกตะหาก
เอาแล้ว.. เริ่มสับสนสิ ทีแรกมั่นใจมากว่ามันคือสารคดี (ฟังจากเสียงพากย์) แต่นี่มันมีเนื้อเรื่องแล้วนิ
ถัดจากนั้นมันก็ป่วงไปเรื่อยๆ มีสามสาวนักดนตรีตาบอด ที่ชวนให้นึกถึงแกงค์สาวนักดนตรีใน Kill Bill ภาคแรกได้ไงไม่รู้
มีพิธีกรรมมากมายที่เราไม่อาจวางใจได้เลยว่า บ้านนอกญี่ปุ่นมันมีพิธียังงี้จริงๆ หรือประดิษฐ์ขึ้นเฉพาะใส่ในหนังกันแน่
เหวอสุดที่ถ้ำอะไรก็ไม่รู้ตอนท้าย มีตัวละครเกาะผนังถ้ำเต็มไปหมด ทั้งคอทั้งตาก็เหมือนจะหมุนได้ 360 องศา
ถึงมันจะเพี้ยนมาไกลขนาดนี้ แต่อาจเพราะความรู้สึก ‘อะไรวะๆๆๆ’ ตลอดเวลาที่ดู เลยทำให้กลายเป็นชอบซะงั้น
ยังไงก็ตาม หิมะในหนังเรื่องนี้สวยสุดใจ
แม้ไม่เคยเห็นหิมะ แต่มั่นใจว่า ของจริงก็ไม่มีวันสวยเท่าในเรื่องนี้แน่ๆ

.


Win/ Win
(Jaap Van Heusden, Netherlands) A-
ความสำเร็จชั่วข้ามคืนทำให้ Ivan เป็นดาว จีบสาวติด ชีวิตดีขึ้นทันตาเห็น
แต่การฆ่าตัวตายของเพื่อนร่วมงานที่การงานล้มเหลว กับหนูที่ขึ้นมาทำรังในคอนโดชั้นสูงๆ
กลับทำให้ Ivan เริ่มไม่พอใจตัวเอง/ตั้งคำถามบางอย่าง
โดนใจจังๆ คือตอนที่ Ivan ถอดรองเท้าถุงเท้าเดินกลับบ้าน อาบน้ำแต่ก็ยังรู้สึกไม่สะอาดพอ
เลยรื้ออุปกรณ์ทำความสะอาดทุกอย่างที่มีในห้องมาขัดสีฉวีวรรณตัวเอง
กับเรื่องเล่าของ Deniz ที่บอกว่า มีนายพรานคนนึงจับนกกระเรียนมาได้ แต่เอามาตัดขา
แล้วนายพรานคนนั้นก็บอกว่า ‘ทีนี้แกก็เป็นนกแล้ว’
หนังตั้งใจต่อต้านทุนนิยมแบบไม่อ้อมค้อม เลยทำให้พล็อตมันเฝือๆ เกินไป
แต่ความชอบที่พุ่งขึ้นมาได้ ก็เพราะช่วงลาดตรงหน้าผาก Ivan เหมือนของเธออย่างไม่น่าเชื่อ
(เห็นมั้ย ลำเอียงล้วนๆ เลย)

.


The Lovers on the Bridge
(Leos Carax, France) A++  
เธอเป็นจิตรกร เขาตกหลุมรักเธอ พวกเขาดื่มไวน์กัน พากเขาเต้นรำกันท่ามกลางแสงไฟจากพลุเฉลิมฉลอง
มันเป็น fairy tale ของคนไร้บ้าน เจ้าหญิงเลยใกล้ตาบอด เจ้าชายเลยขากะเผลก และมอมแมมเหมือนกันทั้งคู่
มันไม่โรแมนติก แต่เราว่ามันก็เป็นหนังรักรสแปลก
‘love need a room, not sidewalk’ คนชราไร้บ้านที่รับบทเป็นเหมือน old wise man บอกกับเราแบบนั้น
วิธีที่ Alex (Denis Lavant เจ้าเดียวกับ Holy Motors นั่นแหละ) ดิ้นรนให้ได้ความรักมาเลยไม่ต่างจากหมาจนตรอก
ที่กระเสือกกระสนทุกวิถีทางให้ผู้หญิงที่รักยังอยู่ข้างๆ แม้ว่าจะต้องเสี่ยงกับอะไรก็ตาม
ชอบปารีสในเรื่องนี้ดูเส็งเคร็ง โสมม ผิดกับภาพปารีสจากหนังหลายๆ เรื่องที่เคยดู

.


You are the Apple of My Eye
(Giddens Ko, Taiwan) A-/B+
ใสกิ๊งเลย ทั้งเรื่อง ทั้งหน้าพระเอกนางเอก :D
ว่าจะไม่ชอบแล้วเชียว แต่พอมาถึงตอนที่แหงนหน้ามองดาว แล้วพูดถึงเรื่องจักรวาลคู่ขนานนี่มันปักใจจริงจัง
ถึงมันจะเป็นหนังเพ้อๆ ใสๆ เหมือนอ่านการ์ตูนตาหวาน แต่ความน่ารักของมันก็ชวนให้ยิ้ม แถมเผลอน้ำตาคลออยู่ดีแหละ

.


Meet the Fokkens
(Gabrielle Provaas Rob Schroder, Netherlands) A+++++
สารคดีเกี่ยวกับสองป้าฝาแฝด Louise กับ Martine วัย 69 ที่ทำงานเป็นโสเภณี
ไม่โศก ไม่เศร้า ไม่ฟูมฟาย ไม่เรียกร้อง ไม่ขอความเห็นใจใดๆ ทั้งสิ้น
แค่นำเสนอภาพชีวิตประจำวันของคุณป้าทั้งสอง ที่นั่งกินข้าวด้วย บีบวิปครีมกินแบบสะใจ
จูงมือกันไปทะเล นั่งอ่านหนังสือริมหาด เกาคางหมา
ส่วนตอนทำงาน ก็พาไปดูว่าคุณป้าเรียกแขกยังไง treat ลูกค้ายังไง
(ซึ่งบางทีมันตลกมาก จนเราสงสัยว่า นี่ลูกค้าเค้าจะเอาแบบนี้จริงๆ ใช่มะ)
ฟินที่สุดคือตอนดูงานอดิเรกยามว่างของป้าๆ ที่นั่งวาดรูปบนผ้าใบอันใหญ่ๆ
และมันก็เป็นรูปที่ไม่ไก่กา แถมป้าๆ ยังเอาไปจัดนิทรรศการด้วยล่ะ

.


All We Ever Wanted
(Sarah Mathilde Domogala, Netherlands) A+++++
ทะลวงวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณสุดๆ
มันเป็นสารดคีที่ไปคุยกับคนวัย 24-29 ที่เป็นที่ยอมรับแล้ว บางคนก็ประสบความสำเร็จตั้งแต่สมัยเรียน
หลายคนเป็นอนิเมเตอร์ เป็นช่างภาพ เป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ เป็นกราฟิกดีไซเนอร์
ทำงานที่คนรุ่นเรามองว่า ‘เก๋’ ดูมีวิถีชีวิตที่โพสต์ลง social network แล้วต้องได้ like ระรัวแน่ๆ
แต่คนเก๋ๆ ก็เหล่านั้นก็มีข้างในป่วยๆ
ตอนที่ถูกถามว่ากลัวอะไรมากที่สุด มีคนนึงตอบว่า ‘กลัวคนอื่นจะรู้ว่า แท้จริงแล้วฉันไม่เก่งอะไรเลย’
โอย… ให้ตายเหอะ นี่มันเป็นหนังที่ทำมาเพื่อคนรุ่นเราจริงๆ
เราทุกคนล้วนเป็นสัตว์บาดเจ็บจริงๆ นั่นแหละ (ขโมยประโยคนี้มาจากแม่หวาย)

.


Laurence Anyway
(Xavier Dolan, Canada-France) A+++++++++++++++++++++++
กลายเป็นว่าชอบเรื่องนี้ที่สุดในเทศกาลนี้
มันเป็นหนังรักที่ก้าวข้ามทุกสิ่งทุกอย่างไปหมดแล้ว กำแพงเรื่องเพศพังทลายหมด
162 นาทีไม่นานเลยที่จะให้เห็นพัฒนาการความสัมพันธ์ของ Laurence กับ Fred ที่เดี๋ยวติดเดี๋ยวดับ
ในขณะที่เราเข้าใจความต้องการอยากเป็นผู้หญิงของ Laurence
เราก็เข้าใจความอึดอัดของ Fred ที่ต้องรับมือกับสายตาจากคนรอบข้างที่แฟนตัวเองจู่ๆ ก็กลายเป็นผู้หญิงไปแล้ว
ถึงมันจะปุปะขาดๆ เกินๆ แบบนั้น แต่เรารู้สึกได้เลยว่า
ความรู้สึกที่ Laurence มีต่อ Fred นี่มันงดงามโคตรๆ (ใช่ ต้องใช้คำว่า งดงาม เลยล่ะ)
ภาพในหนังสวยมาก แค่ฉากสูบบุหรี่แล้วควันลอยขึ้นมายังสวยเลย, ฉากใบไม้ปลิว, ฉากเดินถนนแล้วโค้ตปลิว
ฉากอ่านหนังสือแล้วจู่ๆ น้ำก็เทท่วมห้อง, ฉากแนะนำตัวตระกูล Rosy ที่แทบอยากลุกขึ้นปรบมือ
วี้ดสุดคือฉากที่ผีเสื้อบินออกมาจากปาก Laurence มันเป็นวินาทีสั้นๆ แต่ติดตามาถึงตอนนี้เลย
แพ้หนังประเภทที่เอาจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์มาเป็นฉากจบด้วย
พอคำพูดว่า ‘But Laurence anyway’ ขึ้นมานี่ แทบจะเรียกได้ว่า ตายไปเลย
เคยทึ่งผกก. คนนี้จากเรียก I Killed My Mother มาแล้ว แต่เรื่องนี้นี่มันสุดยอดกว่าอีก
(อิจฉาอ่ะ ทำไมเก่งแบบนี้วะ อายุเท่าเรา เกิดวันเดือนปีเดียวกันแท้ๆ)

.


Barbie
(Lee Sang Woo, South Korea) A-
วงเวียนชีวิตมาเลย พ่อเป็นออทิสติก น้าเป็นแยงกี้
น้องสาวป่วยกระเสาะประแสะ แต่แจ๊ดแจ๋ ชอบแต่งหน้าทาปาก แต่งตัวสวย การงานไม่ทำ
พี่สาวผอมกะหร่อง ขยันทำงานบ้าน ทำงานพิเศษ เป็นเด็กดีสูดกู่
จนมีพ่อลูกอเมริกันมาขอเป็นพ่ออุปถัมภ์ พาคนพี่สาวไปอยู่อเมริกา
คนพี่ปฏิเสธเพราะต้องเลี้ยงดูครอบครัว แต่คนน้องอยากไปแทน เพราะเธอชอบอเมริกาและบาร์บี้มากๆ
(และเชื่อว่า อเมริกาเป็นที่ที่จะทำให้ชีวิตเธอดีกว่าอยู่ในบ้านโทรมๆ แน่)
พล็อตมันจะเป็นละครอยู่แล้วใช่มั้ย แต่ตอนท้ายหนังมันก็เฉลยว่าตาลุงเมกันนั้นจะมารับเด็กคนนั้นไปเพราะอะไร
ทีนี้ก็ตั้งตัวไม่ถูก จากที่เคยเกลียดความแจ๊ดแจ๋ของคนน้อง ความรู้สึกมันพลิกกลับเลย
เล่นกับความรู้สึก/ศีลธรรม/จริยธรรมคนดู แล้วก็มีหลายส่วนเลยที่ทำให้นึกถึง My Sisiter’s Keeper ของ Jodi Picoult